ประวัติความเป็นมา


  ประเพณีลากพระถือเป็นประเพณีที่ สืบทอดเจตนาความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา โดยผู้คนชาวใต้ในอดีตได้นำเอาพุทธประวัติตอนเทโวโรหนปริวัตต์ มาเป็นบริบททางความเชื่อ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมทางศาสนา ประเพณีลากพระจึงได้เกิดขึ้นในสังคมพุทธเกษตรดั้งเดิมในภาคใต้ ทั้งนี้ช่วงเวลาของการประกอบประเพณีดังกล่าวสอดคล้องกับสภาพของสังคมเกษตรกรรม อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวนาอยู่กับผืนนาไถหว่านปักดำ แล้วเสร็จพอดี และเป็นระยะเวลาที่สอดคล้องกับฤดูออกพรรษา ในทางพระพุทธศาสนาที่มีเรื่องราว ตามที่ชาวบ้านศรัทธาในพุทธประวัติตอนเทโวโรหนะ ซึ่งมีความว่า
พระพุทธองค์ได้เสด็จไปจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อตรัสเทศนาพระสัตตปกรณาภิธรรมปิฎก ภายในไตรมาส เพื่อกระทำปัจจุปการสนองพระคุณพระพุทธมารดา ครั้งถึงเดือน 11 ตรงกับแรม 1 ค่ำ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จลงสู่มนุษย์โลก โดยท้าวโกสีย์ได้นฤมิตบันไดทิพย์ทั้ง 3 ลงมาจากเทวโลก คือบันไดทอง อยู่ ณ เบื้องขวา บันไดเงินอยู่ ณ เบื้องซ้าย บันไดแก้ว ประดิษฐานอยู่ท่ามกลาง อันบันใดทองข้างขวานั้นเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหมทั้งหลาย บันไดเงินข้างซ้ายนั้นเป็นที่ลงแห่งหมู่เทพยดาทั้งหลาย บันไดแก้วในทามกลางนั้นเป็นทางเสด็จสมเด็จพระสัพพัญญู



ชาวบ้านจึงได้หยิบยกเอาความพุทธประวัติดังกล่าวมาเป็นสาระในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา โดยถือเอาว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนจะต้องไปเฝ้ารับ เสด็จแห่งหนต้องรับกิจกรรมการลากพระจึงได้จำลองเอาพระราชรถมารับเสด็จและอัญเชิญพระพุทธองค์ประทับในบุษบก แล้วพุทธศาสนิกชนได้เฝ้าแหนรับเสด็จด้วยการลากพระราชรถนั้น (หรือบางแห่งสถานที่เหมาะกับการลากพระทางน้ำ หรือบางแห่งเหมาะลากไปทางบก ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของชุมชนนั้นๆว่าเหมาะกับการลากพระประเภทใด)ส่วนพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาประดิษฐานในบุษบกนั้นจะต้องเป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางเปิดโลก เพื่อให้ต้องตามความในพระพุทธประวัติ
และร่วมกันลากพระราชรถออกจากวัด ออกไปตามถนนหนทางในหมู่บ้าน และจะไปรวม
ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่เป็นจุดรวมกันระหว่างหมู่บ้าน การชักลากจะใช้เชือกป่านมนิลาขนาดใหญ่ หรือหวายเส้นใหญ่ผูกกับพระราชรถ ทั้งสองด้านปล่อยปลายเชือกอีกด้านหนึ่งไว้สำหรับจับเพื่อชักลากยาวประมาณ 10 - 20 เมตร โดยให้โพนเป็นเครื่องตีให้สัญญาณ