วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ประวัติเจ้าพระยายมราช(ปั้น สขุม)
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช นามเดิม ปั้น สุขุม เกิดวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2405 ที่บ้านน้ำตก เมืองสองพันบุรี ปัจจุบันคือ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน ของนายกลั่นและนางผึ้ง ภริยาคือ ท่านผู้หญิงตลับ (ณ ป้อมเพชร)
ศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรมจนได้เปรียญ ลาสิกขาบทแล้วถวายตัวอยู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มต้นชีวิตราชการโดยเป็นครูสอนภาษาไทยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนวิจิตรวรสาส์น ต่อมา พ.ศ.2429 ตามเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์ ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ โดยเป็นพระอาจารย์สอนภาษาไทย
ช่วงเวลานั้นได้ศึกษาภาษาอังกฤษแตกฉาน ทั้งมีโอกาสตามเสด็จไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และเป็น พระวิจิตรวรสาส์น เลขานุการทูตไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
พ.ศ.2437 กลับประเทศไทย เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งเลขานุการเสนาบดี ถึง พ.ศ.2439 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นที่ พระยาสุขุมนัยวินิต ดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นคนแรก ตลอดระยะเวลา 10 ปี ได้พัฒนาปรับปรุงระเบียบการปกครองเจ็ดหัวเมืองภาคใต้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชการในปี 2449 รัฐบาลได้มอบรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปอร์ลิสให้รัฐบาลอังกฤษ แลกเปลี่ยนให้ชาวอังกฤษและคนในเมืองขึ้น ต้องมาขึ้นศาลไทย พระยาสุขุมนัยวินิตก็ได้ปฏิบัติการนี้ให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย
โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามลำดับ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของมกุฎราชกุมาร ผลงานระหว่างกลับมารับราชการในส่วนกลาง นอกจากการปกครอง และอีกมากมายงานราชการสนองพระราชดำริ ทางด้านการช่างและการก่อสร้างผลงานยังเป็นที่ปรากฏ อาทิ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน และพระที่นั่งอนันตสมาคม รับผิดชอบการสร้างประปาพระนคร ไฟฟ้านครหลวง ผู้อำนวยการสร้างถนน สะพานทุกแห่ง
คุณูปการต่างๆ นั้น ส่งให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยายมราช เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2451
ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง มหาอำมาตย์นายก เทียบเท่ากับยศจอมพล (ยศมหาอำมาตย์นายก มีบุคคลเพียง 2 ท่านที่ได้รับพระราชทาน อีกบุคคลหนึ่งคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) และเนื่องจากได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นยศเป็นเจ้าพระยายมราชชั้นหิรัณยบัฏซึ่งสูงสุดอยู่แล้ว จึงทรงยกให้เป็นเจ้าพระยายมราชชั้นสุพรรณบัฏ เทียบเท่ากับเชื้อพระวงศ์ และเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือนพรัตน์ราชวราภรณ์ ทั้งได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นสกุลแรก คือ สุขุม
เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2468 รวมอายุราชการทั้งสิ้น 43 ปี ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2481 สิริอายุ 75 ปี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น